Roller conveyor

ลูกกลิ้งลำเลียง (Roller conveyor)

ลูกกลิ้งลำเลียง (Roller conveyor) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการลำเลียงวัสดุประเภทชิ้นเดี่ยวหลายรูปด้วยกัน เช่น แท่ง, แผ่น, ชิ้นแม่พิมพ์, ม้วนโลหะ, ท่อ, แผ่นไม้ ฯลฯ ให้เคลื่อนย้ายไปตามแนวนอนหรือแนวลาดเอียง ลูกกลิ้งแต่ละลูกจะยึดติดเรียงขนานกันบนโครงสร้างที่อยู่กับที่ด้วยแกนของลูกกลิ้ง ทำให้ผิวท่อของลูกกลิ้งหมุนรอบแกนตัวเอง เมื่อมีน้ำหนักวัสดุที่ขนถ่ายมากดทับสัมผัสบนผิวลูกกลิ้งหากผิวลูกกลิ้งแต่ละลูกที่รองรับวัสดุนั้นเกิดการหนุนตัวในทิศทางเดียวกันวัสดุที่ได้สัมผัสกับผิวลูกกลิ้งก็จะเกิดการเคลื่อนที่ไปพร้อมกับผิวหมุนของลูกกลิ้งที่รองรับนั้น การประกอบและการนำไปใช้งานไม่ยุ่งยาก ราคาไม่แพง จัดเป็นเครื่องทุ่นแรงงานได้มาก จึงมีใช้ในอุตสาหกรรมเกือบทุกชนิด ระยะห่างของการติดตั้งลูกกลิ้งบนโครงรองรับจะต้องมีลูกกลิ้งรองรับวัสดุที่จะขนถ่ายอย่างน้อย 2 ลูก แต่เพื่อให้วัสดุที่ขนถ่ายเคลื่อนตัวไม่สะดุด ควรเว้นช่องว่างระหว่างศูนย์กลางลูกกลิ้งไม่เกิน 1 ใน 3 ของความยาวของก้อนวัสดุที่จะขนนั้น ลูกกลิ้งลำเลียง (Roller conveyor) หากแบ่งตามหลักการทำงานสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ ลูกกลิ้งลำเลียงแบบไม่ใช้กำลังขับ (Unpower roller conveyor) และลูกกลิ้งแบบใช้กำลังขับ (Power roller conveyor) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้คือ

 

ลูกกลิ้งลำเลียงแบบไม่ใช้กำลังขับ (Unpower roller conveyor)

            ลูกกลิ้งลำเลียงแบบไม่ใช้กำลังขับ (Unpower roller conveyor) ลูกกลิ้งนี้มีใช้กันอย่างแพร่หลายในอุตสาหกรรมเกือบทุกประเภท หลักการทำงานโดยทั่วไปจะอาศัยพลังงานศักดิ์ที่เกิดจากแรงดึกดูดของโลก (Gravity) โดยการวางโครงที่ยึดลูกกลิ้งปลายด้านหนึ่งเอียงต่ำลง หรือหากอยู่ในแนวราบก็จะอาศัยแรงผลักดันจากเครื่องมืออื่น หรือแรงงานคนเป็นต้นกำลังให้วัสดุเคลื่อนที่บนชุดลูกกลิ้งนั้น เนื่องจากลูกกลิ้งลำเลียงชนิดนี้จะหมุนรอบตัวเองได้อย่างอิสระต่อกัน และที่ตัวลูกกลิ้งจะไม่มีชุดขับใดๆ จึงมีชื่อเรียกลูกกลิ้งลำเลียงชนิดนี้ว่าลูกกลิ้งลำเลียงแบบหมุนอิสระ (Free roller conveyor)

 

ลูกกลิ้งแบบใช้กำลังขับ (Power roller conveyor)

ลูกกลิ้งแบบใช้กำลังขับ (Power roller conveyor) จะมีขั้นตอนการออกแบบที่ยากมากกว่าการใช้ลูกกลิ้งลำเลียงแบบไม่ใช้กำลังขับ (Unpower roller conveyor) แต่ว่าระบบการทำงานของลูกกลิ้งนี้จะมีข้อดีตรงที่ว่าสามารถลำเลียงสินค้าที่มีน้ำหนักมากๆได้ และสามารถลำเลียงได้ในระยะทางที่ไกล จึงทำให้ลูกกลิ้งชนิดนี้ถูกนำมาพิจารณาใช้กันอย่างมากและได้มีการออกแบบให้มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปตามภาระน้ำหนักของสินค้า สถานที่และสภาพแวดล้อมที่จะนำลูกกลิ้งไปใช้ และได้มีการออกแบบชุดอุปกรณ์ขับที่แตกต่างกัน เช่น ใช้โซ่ขับ ใช้สายพานขับ ปัจจุบันได้มีการพัฒนาโดยการใช้มอเตอร์ขับขนาดเล็กบรรจุอยู่ภายในตัวลูกกลิ้ง เรียกลูกกลิ้งลำเลียงชนิดนี้ว่า ลูกกลิ้งลำเลียงแบบมีอุปกรณ์ขับ (Drive roller)

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *